- วันหยุดนักขัตฤกษ์
- กิจกรรมของ ก.ธ.จ.

คำถามที่พบบ่อย
ประเด็นที่ ๑ การสรรหา
๑.๑ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ จะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ได้หรือไม่
ตอบ “ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) คือกลุ่มผู้แทนของภาคประชาชน ที่เข้ามามีบทบาทในการสอดส่องการปฏิบัติงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันเป็นความพยายามในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ฉะนั้น หากยินยอมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. ได้แล้ว ก็จะเท่ากับเป็นการยินยอมให้ผู้สอดส่องและผู้ถูกสอดส่องเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งขัดกับหลัก Conflict Of Interest หรือหลักผลประโยชน์ทับซ้อน และยังเป็นการขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและหลักธรรมาภิบาลอีกด้วย ซึ่งการยินยอมเช่นว่านั้นจะทำให้การสอดส่องการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของระเบียบฯ จากกรณีดังกล่าว ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้วินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบฯ ข้อ ๓๐ วินิจฉัยว่า เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระเบียบฯ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. ได้ และได้กำหนดไว้ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการสรรหาเป็นกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ว่า "ในการสรรหากรรมการผู้แทนภาคประชาสังคม ให้นายอำเภอตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครตามข้อ ๘ แห่งระเบียบฯ โดยผู้สมัครจะต้องไม่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ"
”
|
๑.๒ การที่ระเบียบฯ ข้อ ๘ (๑) กำหนดให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้แทนภาคประชาสังคม ต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มประชาสังคมที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนา ส่งเสริม หรืออนุรักษ์ ฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับถึงวันสมัครเข้ารับการสรรหา หรือเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในชุมชน นั้น ว่าเป็นผู้มีความรู้และความสามารถในด้านดังกล่าว นั้น จะเป็นการสร้างภาระให้แก่อำเภอใน การหาผู้ที่เหมาะสมเพื่อสมัครเข้ารับการสรรหาหรือไม่
ตอบ “ เพื่อให้การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้แทนภาคประชาสังคมเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และไม่เป็นภาระกับจังหวัดในการพิจารณาคุณสมบัติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติดังกล่าวไว้ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ว่ากรณีเป็นสมาชิกกลุ่มประชาสังคม ให้ผู้สมัครแนบหลักฐานการจดทะเบียน หรือหลักฐานอ้างอิงการเป็นกลุ่มหรือองค์กรที่ผู้สมัครเป็นสมาชิก รวมทั้งหลักฐานการเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าวติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปีนับถึงวันสมัคร เช่น หนังสือรับรองจากประธานกลุ่ม รายงานการประชุมของกลุ่ม เป็นต้น กรณีเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน ให้ผู้สมัครแนบใบรับรองจากกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชน หรือประชาชนที่มีสัญชาติไทย ที่อยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชน อายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ในวันรับรอง จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๕ คน ลงลายมือชือรับรองว่า เป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับหรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถดังกล่าวจริง ไว้ในใบสมัครเข้ารับการสรรหาผู้แทนภาคประชาสังคม เป็นกรรมการ ก.ธ.จ. ” |
๑.๓ การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้แทนภาคประชาสังคม และกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ตามระเบียบฯ ข้อ ๘ (๗) ข้อความว่า “ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ...” นั้น การได้รับโทษจำคุกจะรวมถึงการที่ศาลมีคำพิพากษา ให้รอลงอาญาด้วยหรือไม่ ประกอบกับ หากมีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดที่ได้รับโทษจำคุกดังกล่าว ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบฯ ข้อ ๘ (๗) หรือไม่ อย่างไร
ตอบ “ การได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หมายถึง การได้รับโทษให้จำคุกในเรือนจำจริง ๆ ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล ดังนั้น หากบุคคลใดเพียงแต่ถูกศาลมีคำสั่งให้รอลงอาญาไว้สำหรับความผิดที่ศาลลงโทษถึงจำคุก บุคคลนั้นจึงยังไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๘ (๗) แห่งระเบียบฯ กรณีบุคคลซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่ากระทำความผิดและมีโทษถึงจำคุก หรือรับโทษจำคุกอยู่ แต่ได้รับการนิรโทษกรรมโดยผลของกฎหมาย ซึ่งตราขึ้นเพื่อนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดต่าง ๆ กรณีต้องเป็นไปตามที่กฎหมายนั้นกำหนด กล่าวคือ หากกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ให้ถือว่าผู้นั้นไม่มีความผิดก็ดี หรือให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนก็ดี บุคคลดังกล่าวก็สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการดังกล่าวได้ โดยไม่ถื่อว่าเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๘(๗) แห่งระเบียบฯ
”
|
๑.๔ กรณีอำเภอที่ไม่มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้แทนภาคประชาสังคมของอำเภอ หรือมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพียงคนเดียวหรือสองคน อำเภอต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบ “ ระเบียบฯ ข้อ ๗ ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของอำเภอในการสรรหาผู้แทนภาคประชาสังคมของอำเภอ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว อำเภอต้องมีการประชาสัมพันธ์การรับสมัครอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตอำเภอ มีการประสานงานเพื่อชักชวน และขอความร่วมมือจากประชาชนในอำเภอของท่านให้มาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้แทนภาคประชาสังคมของอำเภอ กรณีมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้แทนภาคประชาสังคมเพียงคนเดียว บุคคลดังกล่าวก็ย่อมถือเป็นผู้แทนภาคประชาสังคมของอำเภอนั้นโดยปริยาย โดยอำเภอไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมเพื่อเลือกกันเองแต่อย่างใด แต่หากกรณีมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา ๒ คน ให้อำเภอจัดให้ผู้สมัครดังกล่าวจับสลากเพื่อให้ได้ผู้แทนภาคประชาสังคมของอำเภอ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้สมัครลงคะแนนเพื่อเลือกกันเองก่อน
”
|
๑.๕ กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล แจ้งต่ออำเภอ ว่า ไม่ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น ดังนั้น อำเภอควรต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบ “ อำเภอควรชี้แจงไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ที่แจ้งความประสงค์จะไม่ส่งผู้แทนเข้ารับการสรรหาว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้งกล่าวในฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองของรัฐในระดับท้องถิ่น มีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี เมื่อระเบียบฯ ฉบับนี้ได้ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา ๕๕/๑ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบฯ ทั้งนี้ ระเบียบฯ ข้อ ๓๓ ได้กำหนดให้ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของ ก.ธ.จ. อีกทั้ง โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯ ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่นของอำเภอนั้น มาจาการเลือกกันเองของผู้แทนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่มีอำเภอ ซึ่งเป็นการเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชนทั้งหมดที่มีในพื้นที่ ดังนั้น อง์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จึงมีหน้าที่ในการส่งผู้แทนเข้าร่วมในการสรรหาตามที่ระเบียบฯ กำหนด
”
|
๑.๖ กรณีมีบุคคลได้คะแนนเท่ากันในการประชุมเพื่อเลือกกันเอง ก่อนจัดให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน จับสลากเพื่อให้ได้ผู้แทนหรือกรรมการนั้น จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องจัดให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเสียก่อนว่า บุคคลใดจะเป็นผู้ทำการจับสลากก่อน
ตอบ “ เนื่องจากระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้โดยแจ้งชัด ในทางปฏิบัติจึงแล้วแต่มติของที่ประชุม ” |
๑.๗ ในการลงคะแนนเพื่อเลือกกันเองนั้น ต้องจัดให้มีการลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือโดยวิธีลับ
ตอบ “ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแนวทางปฏิบัติในการสรรหากรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ได้กำหนดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ว่า "การลงคะแนนเพื่อเลือกกันเองของผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ในระดับอำเภอหรือจังหวัด แล้วแต่กรณี จะกระทำโดยเปิดเผยหรือโดยวิธีลับก็ได้ แล้วแต่มติของที่ประชุม" ” |
๑.๘ ในการลงคะแนนเพื่อเลือกกันเองตามระเบียบฯ ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ หากผู้เข้าประชุมลงคะแนนเลือกผู้เข้าประชุมเพียงหนึ่งชื่อหรือเกินกว่าสองชื่อ ผลจะเป็นอย่างไร
ตอบ “ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการสรรหากรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ได้กำหนดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ว่า "หากผู้เข้าร่วมประชุมลงคะแนนเพื่อเลือกกันเองโดยไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ เช่น ลงคะแนนเลือกผู้เข้าประชุมเพียงหนึ่งชื่อหรือเกินกว่าสองชื่อ ให้การลงคะแนนเฉพาะส่วนของผู้นั้นเสียไป และไม่อาจนำคะแนนดังกล่าวนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนเพื่อกำหนดตัวผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนหรือกรรมการ และนำไปเรียงลำดับรายชื่อของผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อสำรองได้" ” |
๑.๙ กรณีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองแต่ไม่ได้รับการเลื่อนรายชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการภายในรอบวาระการดำรงตำแหน่ง ต่อมา เมื่อกรรมการชุดเดิมดำรงตำแหน่งครบวาระและมีการสรรหากรรมการชุดใหม่ บุคคลดังกล่าวยังคงเป็นผู้ที่ได้คะแนนในลำดับถัดจากผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ และมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองอีกเช่นเดิม จะถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. ติดต่อกันสองวาระ และห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.ธ.จ. ในวาระถัดไป ตามระเบียบฯ ข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่
ตอบ “ การมีรายชื่อในบัญชีรายชือสำรองไม่ได้ทำให้บุคคลดังกล่าวมีสถานะเป็นกรรมการ ดังนั้น ทุกครั้งที่ได้รับการระบุชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองจึงไม่อาจนับในแต่ละครั้งนั้นเป็น ๑ วาระได้ จากกรณีข้างต้น บุคคลดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบฯ ข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า กรรมการ ก.ธ.จ. จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ ” |
๑.๑๐ การสรรหากรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสมาคมการค้าในเขตจังหวัด จะต้องแจ้งรายชื่อผู้แทนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวนกี่คน
ตอบ “ ระเบียบฯ ข้อ ๑๔ กำหนดให้ประธานหอการค้าจังหวัดและประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีในเขตจังหวัดจัดประชุมสมาชิกเพื่อเลือกกันเอง ให้ได้ผู้แทนหอการค้าจังหวัดห้าคน และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดห้าคน ในกรณีที่มีสมาคมการค้าในเขตจังหวัด ให้นายกสมาคมการค้าที่ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนจัดประชุมสมาชิกเพื่อเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนสมาคมการค้าแห่งละสามคน ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนัยระเบียบดังกล่าว ” |
๑.๑๑ ประธานหอการค้าจังหวัดหรือประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือนายกสมาคมการค้า มีสิทธิเป็นกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนได้ หรือไม่
ตอบ “ ประธานหอการค้าจังหวัด หรือประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือนายกสมาคมการค้า หากมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบฯ ข้อ ๑๕ ก็สามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนได้ ” |
๑.๑๒ การจัดประชุมเพื่อเลือกกันเองของสมาชิกหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสมาคมการค้าในเขตจังหวัด มีวิธีการประชุมกันอย่างไร
ตอบ “ ระเบียบฯ ข้อ ๑๔ กำหนดให้ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และนายกสมาคมการค้า จัดประชุมสมาชิกเพื่อเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนตามจำนวนที่กำหนด ดังนั้น วิธีการประชุมสมาชิกจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ในดุลพินิจของประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และนายกสมาคมการค้าที่จะดำเนินการ เพียงแต่ในทางปฏิบัติต้องแจ้งให้สมาชิกทุกคนได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมและกำหนดวัน เวลาการประชุม ทั้งนี้ ระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือประชุมวิสามัญแต่อย่างใด ” |
๑.๑๓ การจัดประชุมเพื่อเลือกกันเองของผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนทั้งสามประเภทในระดับจังหวัด จะมีวิธีการเลือกกันเองอย่างไรเพื่อให้ได้ผู้แทนครบทุกประเภท และหากจังหวัดที่มีผู้แทน ภาคธุรกิจเอกชนได้สี่คน หรือจังหวัดที่ไม่มีสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือไม่มีสมาคมการค้า หรือมีสมาคมการค้าแต่ไม่ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้ารับการคัดเลือก จะมีวิธีการเลือกกันเอง อย่างไร
ตอบ “ ระเบียบฯ ข้อ ๑๖ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดประชุมผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนทั้งสามประเภทร่วมกัน โดยให้ผู้แทนคนหนึ่งลงคะแนนเลือกเฉพาะผู้แทนที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ให้ได้ผู้แทนประเภทละหนึ่งคน หากจังหวัดใดมีผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนได้สี่คน ให้ผู้แทนทุกคนลงคะแนนเพื่อเลือกกันเอกจากผู้แทนทุกประเภทร่วมกัน ให้ได้ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ในกรณีที่จังหวัดไม่มีสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือไมมีสมาคมการค้า หรือมีสมาคมการค้าแต่ไม่ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้ารับการคักเลือก ให้ผู้แทนลงคะแนนเลือกเฉพาะผู้แทนในประเภทเดียวกันให้ได้กรรมการผู้แทนประเภทละหนึ่งคนก่อน แล้วจึงให้ผู้แทนทุกคนลงคะแนนเพื่อเลือกกันเองจากผู้แทนทุกประเภทร่วมกัน ให้ได้ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้นตามจำนวนกรรมการที่พึงมีของจังหวัดนั้น ”
|
๑.๑๔ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการสรรหากรรมการ ธรรมาภิบาลจังหวัด ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่กำหนดให้จังหวัดและอำเภอ ควรดำเนินการสรรหาให้เป็นไปตามปฏิทินการสรรหากรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำขึ้น หมายความว่าอย่างไร
ตอบ “ ปฏิทินการสรรหาฯ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำขึ้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างของการกำหนดระยะเวลาเพื่อให้การปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของการสรรหามีความเหมาะสมและสามารถดำเนินการสรรหาได้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน ตามที่ระเบียบฯ ข้อ ๒๑ กำหนด ซึ่งอำเภอและจังหวัดย่อมสามารถปรับเปลี่ยนระยะเวลาให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงานของแต่ละอำเภอและจังหวัดได้ แต่ควรอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้แทนภาคประชาสังคมของอำเภอ ซึ่งตามปฏิทินการดำเนินการสรรหากรรมการ ก.ธ.จ. หมายเลข ๑ ในข้อ ๒ และข้อ ๓ กำหนดให้ นายอำเภอตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครและปิดประการรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนภายใน ๕ วัน พร้อมทั้งแจ้งกำหนดนัดประชุมในระดับอำเภอ หากอำเภอไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและปิดประกาศได้ในช่วงเวลาที่กำหนด อำเภอก็สามารถปรับขยายระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมได้ แต่ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๓ วัน ตามระยะเวลาที่กำหนดในปฏิทิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในใบสมัครเข้ารับการสรรหาผู้แทนภาคประชาสังคม เป็นกรรมการ ก.ธ.จ. ได้มีการกำหนดให้ผู้สมัครรับรองคุณสมบัติของตนเองเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการบรรเทาภาระของอำเภอในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาอีกทางหนึ่ง ” |
๑.๑๕ ระเบียบฯ ข้อ ๑๘ กำหนดให้กรรมการ ก.ธ.จ. มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี นับแต่วันที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองรายชื่อกรรมการเป็นรายจังหวัด กรรมการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับการสรรหาอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกัน เกินสองวาระไม่ได้ ดังนั้น ในการสรรหากรรมการ ก.ธ.จ. ในวาระถัดไปจะมีกรรมการจำนวนหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันสองวาระ ทำให้ไม่สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการได้ ในการนี้ จังหวัดและอำเภอสามารถตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าวได้อย่างไร
ตอบ “ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด เพืออำนวยความสะดวกให้กับจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อประกอบการสรรหากรรมการ ก.ธ.จ. ได้ที่เว็บไซต์ www.ggc.opm.go.th ” |
๑.๑๖ ด้วยรัฐบาลได้กำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน โดยให้ ทุกส่วนราชการไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชนที่มารับบริการจากหน่วยงานราชการ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ กรณีนี้ เมื่อมี การสรรหากรรมการ ก.ธ.จ. ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจะต้องแนบสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่อำเภอ หรือจังหวัดหรือไม่ อย่างไร
ตอบ “ มาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน) เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยต้องปฏิบัติตาม ประกอบกับตามข้อ ๒ ของประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดว่า "กรณีจำเป็นและต้องการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอเป็นผู้จัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าวขึ้นเอง โดยห้ามมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาการจัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตรงตามที่ระเบียบฯ กำหนด ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านเพื่อระบุตัวตน สัญชาติ อายุ และภูมิลำเนาของผู้สมัคร ประกอบกับตามข้อ ๒ ของประกาศกรมการปกครอง เรื่องยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดว่า "กรณีจำเป็นและต้องการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอเป็นผู้จัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าวขึ้นเอง โดยห้ามมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาการจัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าว" ดังนั้น จังหวัดและอำเภอในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการสรรหากรรมการ ก.ธ.จ. และเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารทางราชการดังกล่าว ต้องจัดทำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร และส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวของผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. พร้อมรับรองความถูกต้อง ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีรับรองรายชื่อกรรมการต่อไป ”
|
๑.๑๗ ระเบียบฯ ข้อ ๒๑ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ในกรณีที่ต้องดำเนินการสรรหากรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือการสรรหากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการสรรหากรรมการใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับแจ้ง ดังนั้น กรณีจังหวัดใดใช้ระยะเวลาในการดำเนินการสรรหากรรมการเกินกว่าระยะเวลา ที่กำหนด ( ๖๐ วัน) จะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ตอบ “ ระเบียบฯ ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการสรรหากรรมการ กรณีพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนั้น เป็นการกำหนดระยะเวลาเร่งรัดเพื่อให้การดำเนินการสรรหากรรมการที่พ้นจากตำแหน่งให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่รวดเร็วตามกรอบที่ระเบียบฯ กำหนดไว้เท่านั้น โดยมิได้กำหนดผลว่าหากดำเนินการเกินกว่าที่กำหนดไว้ จะส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ซึ่งหากจังหวัดมีเหตุจำเป็นที่อาจทำให้การสรรหากรรมการฯ มีความล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ จังหวัดก็สามารถพิจารณายืดระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวออกไปได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว แม้ว่าจะล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควรด้วย ซึ่งหากดำเนินการล่วงเลยระยะเวลาอันสมควรก็จะเป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้อยู่ใต้บังคับของคำสั่งทางปกครองนั้น ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาเพิกถอนหรือดำเนินการให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลาได้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
”
|
๑.๑๘ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ และตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต ซึ่งกำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลไว้ หรือมีการนำ ข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ หรือนำไปเปิดเผย ไม่ว่าจะวัตถุประสงค์ใดก็ตาม จำเป็นต้องได้รับ คำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เว้นแต่จะเป็นไปตามข้อยกเว้นที่พระราชบัญญัติฯ โดยจะมีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง หากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ก.ธ.จ. ได้มีการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของ ก.ธ.จ. จะมีแนวทางดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไรบ้าง
ตอบ “ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำหนังสือแสดงความยินยอมให้เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อขอความยินยอมให้สามารถเก็บรวมรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของ ก.ธ.จ. ที่ปรึกษา ก.ธ.จ. และฝ่ายเลขานุการ ก.ธ.จ. ในวาระปัจจุบันและวาระต่อ ๆ ไป และได้มีมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว รวมถึงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลในเชิงเทคนิคที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว สร้างความเดือนร้อนรำคาญ หรือสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งได้ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลสวนบุคคลกำหนด ” |
๑.๑๙ กรณีกรรมการที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.ธ.จ. ในวาระที่ ๑ และวาระที่ ๒ ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งกรรมการในวาระที่ ๒ ต่อมาได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการไป แล้วภายหลังได้รับการสรรหาเข้ามาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. อีกครั้ง กรณีนี้จะถือว่าขาดคุณสมบัติตามระเบียบฯ ข้อ ๑๘ เนื่องจากดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระหรือไม่
ตอบ “ ระเบียบฯ ข้อ ๑๘ กำหนดให้กรรมการผู้แทนภาคประชาสังคม กรรมการผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น และกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน มีวาระการดำรงตำแหน่งใน ก.ธ.จ. คราวละสามปีนับแต่วันที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองรายชื่อกรรมการเป็นรายจังหวัด กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการสรรหาอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ ฉะนั้น การดำรงตำแหน่งติดต่อกันของกรรมการ ก.ธ.จ. จึงต้องพิจารณาวาระของ ก.ธ.จ. เป็นสำคัญ กล่าวคือไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งจนครบวาระหรือไม่ก็ตาม ก็นับเป็นหนึ่งวาระ กรณีกรรมการ ก.ธ.จ. ดำรงตำแหน่งกรรมการในวาระที่ ๒ และได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการไป ต่อมาได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ก.ธ.จ. อีกเป็นครั้งที่สองซึ่งเป็นการแต่งตั้งในช่วงเวลาของวาระที่ ๒ ยังไม่สิ้นสุด (วาระเดิม) ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.ธ.จ. ของกรรมการดังกล่าว ปัจจุบันยังคงเป็นวาระที่ ๒ ซึ่งยังไม่เกินสองวาระ จึงถือว่ายังไม่ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๑๘ แห่งระเบียบฯ ” |
ประเด็นที่ ๒ การปฏิบัติหน้าที่
๒.๑ กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไรบ้าง
ตอบ “ เจตนารมณ์ของระเบียบฯ คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยอาศัยจิตสาธารณะที่จะเข้ามาสอดส่องการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบกับมาตรา ๕๕/๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้มีการกำหนดรายละเอียดในระเบียบฯ เกี่ยวกับจำนวน วิธีการสรรหา และการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. แต่มิได้บัญญัติให้ต้องมีการกำหนดเกี่ยวกับค่าตอบแทนของ ก.ธ.จ. ไว้ในระเบียบฯ ด้วยแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ก.ธ.จ. ถือเป็น "คณะกรรมการ" ตามพระราชกฤษฏีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงได้รับเบี้ยประชุมในอัตรา ดังนี้ ประธาน ก.ธ.จ. ได้รับจำนวน ๒,๐๐๐ บาท และกรรมการได้รับจำนวน ๑,๖๐๐ บาท ต่อการประชุมหนึ่งครั้ง แม้ค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานจะไม่มากนัก แต่ประโยชน์ตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าตัวเงิน ซึ่ง ก.ธ.จ. จะได้รับจากการปฏิบัติงาน ก็คือ ความเจริญสถาพรของประเทศชาติ และความภาคภูมิใจที่ตนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการทำให้ประเทศชาติพัฒนา ” |
๒.๒ ก.ธ.จ. ประกอบด้วยผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีเขตอำนาจในจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนเป็นกรรมการ ในกรณีที่ ก.ธ.จ. ขาดองค์ประกอบในภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมทำให้ ก.ธ.จ. มีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนตามที่ระเบียบฯ กำหนด กรรมการที่เหลืออยู่จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ดังนั้น คำนิยามที่ว่า “ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้” มีความหมายและขอบเขตของการบังคับใช้อย่างไร
ตอบ “ เจตนารมณ์ของระเบียบฯ ที่กำหนดให้ ก.ธ.จ. ประกอบด้วยบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ก็ด้วยประสงค์จะให้มีการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคคลที่มีหน้าที่ ความรับผิดชอบ มีความรู้และความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป อันจะทำให้การพิจารณาตัดสินใจของ ก.ธ.จ. เป็นไปอย่างรอบคอบ รอบด้าน และชอบธรรมที่สุด ซึ่งเป็นการกำหนดคุณลักษณะขั้นพื้นฐานของคณะกรรมการตามหลักกฎหมายทั่วไป ในส่วนการขับเคลื่อนงานของ ก.ธ.จ. มาจากการประชุม ก.ธ.จ. เพือมีมติในการดำเนินการต่าง ๆ ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อ ก.ธ.จ. ขาดองค์ประกอบในภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมทำให้ ก.ธ.จ. คณะนั้นไม่สามารถประชุมเพื่อมีมติดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้ จนกว่าจะมีการสรรหากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างจนครบองค์ประกอบตามที่ระเบียบฯ กำหนด อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ ก.ธ.จ. มีมติดำเนินการหรือมอบหมายบุคคลให้ดำเนินการใด ๆ ก่อนที่องค์ประกอบของ ก.ธ.จ. ในคณะนั้นจะขาดไป การดำเนินการตามมตินั้นยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากเป็นการพิจารณาของ ก.ธ.จ. ที่ครบองค์ประกอบโดยไม่ขัดต่อระเบียบฯ แต่อย่างใด ” |
๒.๓ ระเบียบฯ ข้อ ๒๕ วรรคหนึ่ง กำหนดให้การประชุม ก.ธ.จ. ต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม คำว่าจำนวนกรรมการทั้งหมด หากต่อมาได้มีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระและอยู่ในระหว่างสรรหากรรมการทดแทน จำนวนกรรมการทั้งหมดนั้น จะนับจากจำนวนทั้งหมดตามที่ระเบียบฯ กำหนด หรือนับจากจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน
ตอบ “ การที่ ก.ธ.จ. จะประชุมหรือนับองค์ประชุมได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบของคณะกรรมการเกิดขึ้นก่อน ซึ่งองค์ประกอบของ ก.ธ.จ. ประกอบด้วย ประธาน กรรมการผู้แทนภาคประชาสังคม กรรมการผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น และกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน เมื่อเกิดคณะกรรมการขึ้นแล้ว จึงจะพิจารณาได้ว่าจำนวนทั้งหมดของกรรมการมีจำนวนเท่าใด เช่น ถ้า ก.ธ.จ. คณะหนึ่งมีประธานและกรรมการ รวมทั้งสิ้น ๒๐ คน จำนวนกรรมการทั้งหมดย่อมเท่ากับ ๒๐ คน การนับองค์ประชุมจึงต้องคำนวณจากจำนวน ๒๐ คน แต่ในกรณีที่ต่อมา มีกรรมการพ้นจากตำแหน่งจำนวน ๔ คน หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการแล้วยังครบถ้วน จำนวนกรรมการทั้งหมดของ ก.ธ.จ. คณะนั้นย่อมลดลงเหลือ ๑๖ คน ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๑๑ กำหนดว่า "ในกรณีที่ยังไม่มี บัญชีรายชื่อสำรองตามระเบียบนี้ หากกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ ก.ธ.จ. ประกอบด้วย กรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จนกว่าจะมีกรรมการที่ได้รับการสรรหาใหม่..." ดังนั้น กรรมการทั้งหมดของ ก.ธ.จ. ให้คำนวณจากจำนวนเต็มตามที่ระเบียบฯ กำหนด ต่อมาหากมีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และไม่มีบัญชีรายชื่อสำรองเพื่อแต่งตั้งบุคคลในบัญชีดังกล่าวเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นได้ หากองค์ประกอบของ ก.ธ.จ. ยังครบถ้วน การนับองค์ประชุมกึ่งหนึ่งตามข้อ ๒๕ แห่งระเบียบฯ ย่อมต้องคำนวณจากจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน (รวมประธาน) จนกว่าจะมีกรรมการที่ได้รับการสรรหาใหม่มารับหน้าที่แทนตำแหน่งที่ว่างนั้นต่อไป ”
|
๒.๔ ก.ธ.จ. สามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในจังหวัดได้หรือไม่
ตอบ “ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางเพื่อประกอบการพิจารณาของจังหวัดหรือส่วนราชการในจังหวัดในการแต่งตั้งให้ ก.ธ.จ. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานต่าง ๆ ในจังหวัด ดังนี้ (๑) การแต่งตั้ง ก.ธ.จ. เข้าร่วมเป็นคณะกรรการหรือคณะทำงาน อำนาจหน้าที่ ตามคำสั่งดังกล่าวต้องมีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ตามที่ระเบียบฯ กำหนด ทั้งนี้ จังหวัดสามารถใช้กลไก ก.ธ.จ. ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหรือคณะทำงานโดยเชิญ ก.ธ.จ. ในพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือร่วมลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการส่งเสริมตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของหน่วยงานได้ (๒) การพิจารณาแต่งตั้ง ก.ธ.จ. เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ควรพิจารณาแต่งตั้งเฉพาะคำสั่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนในพื้นที่ หน่วยงาน หรือประเทศชาติ ซึ่งการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคำสั่งดังกล่าว จะเป็นไปในลักษณะให้ข้อเสนอแนะ ส่งเสริม สนับสนุน หรือพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ทั้งนี้ หากจังหวัดจะขอให้ ก.ธ.จ. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ควรแจ้งให้ประธาน ก.ธ.จ. ทราบก่อนดำเนินการแต่งตั้งด้วย (๓) การพิจารณาแต่งตั้ง ก.ธ.จ. ไม่ควรแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานร่วมกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ สืบสวน หรือจับผิดหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรภาคเอกชน ในเรื่องต่าง ๆ (๔) การพิจารณาแต่งตั้ง ก.ธ.จ. ไม่ควรแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ (๕) การแต่งตั้ง ก.ธ.จ. เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ในองค์ประกอบของคำสั่งดังกล่าวขอให้แต่งตั้งเป็น "ผู้แทนคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย" เพื่อจะได้เสนอที่ประชุม ก.ธ.จ. มีมติมอบหมายกรรมการที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือมีความเหมาะสมกับคำสั่งนั้น ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การแต่งตั้ง ก.ธ.จ. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ. และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นกรรมการตามที่ระเบียบฯ กำหนด
”
|
๒.๕ ก.ธ.จ. มีอำนาจหน้าที่สอดส่องการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในจังหวัดให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ดังนั้น ในกรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก.ธ.จ. สามารถสอดส่องการปฏิบัติภารกิจของ อปท. ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีได้หรือไม่ เนื่องจาก อปท. มีกฎหมายจัดตั้ง อปท. ที่ให้อำนาจอิสระในการบริหารงานได้ ด้วยตนเอง
ตอบ “ ก.ธ.จ. มีอำนาจสอดส่อง อปท. ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓/๑ และมาตรา ๕๕/๑ แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ แห่งระเบียบฯ ถึงแม้ อปท. จะจัดตั้งขึ้นโดยยึดหลักความเป็นอิสระของ อปท. (Local Autonomy) โดยมีวัตถุประสงค์ให้การบริหารและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปเพื่อตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ก็ไม่ใช่การปกครองตนเองอย่างไร้ขอบเขต ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลองรัฐบาลส่วนกลาง โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๐ วรรคห้า ที่วางหลักไว้ว่า "กฎหมายที่ให้หน้าที่และอำนาจแก่ อปท. มีอิสระในการบริหารการจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแล อปท. ซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริต และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างของ อปท.แต่ละรูปแบบ" ดังนั้น การที่กฎหมายกำหนดให้ ก.ธ.จ. มีอำนาจหน้าที่ในการสอดส่อง อปท. ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จึงถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นและประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ซึ่งสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแล อปท. ตามมาตรา ๒๕๐ วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ” |
๒.๖ ผู้ช่วยเลขานุการ ก.ธ.จ. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหนึ่งคน และข้าราชการในจังหวัดหนึ่งคนนั้น สามารถแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการที่เป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ช่วยเลขานุการในจังหวัด มีภารกิจค่อนข้างมาก อาจทำให้ไม่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ก.ธ.จ. ได้อย่างเต็มที่
ตอบ “ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๕ วรรคสาม กำหนดว่า "ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ประธานเสนอเป็นเลขานุการหนึ่งคน และผู้ช่วยเลขานุการหนึ่งคน และแต่งตั้งข้าราชการในจังหวัดนั้นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอเป็นผู้ช่วยเลขานุการหนึ่งคน" และวรรคสี่ กำหนดว่า "ให้เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดทำวาระการประชุมและงานธุรการอื่นตามที่ประธานมอบหมาย รวมทั้งจัดทำแผนงานประชุม ก.ธ.จ. เพื่อเสนอให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียื่นของบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการของบประมาณ และให้ผู้ช่วยเลขานุการซึ่งเป็นข้าราชการในจังหวัด มีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานกรรมการในจังหวัด เชิญประชุม จัดสถานที่ประชุม และงานธุรการอื่นตามที่ประธานมอบหมาย" จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่าระเบียบฯ ได้กำหนดให้มีผู้ช่วยเลขานุการ ก.ธ.จ. ที่สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและจังหวัด และได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน จึงต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบฯ และแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งการดำเนินงานของ ก.ธ.จ. ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ช่วยเลขานุการของจังหวัดในการขับเคลื่อนงาน ก.ธ.จ. ให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จเป็นไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยความเหมาะสม และสอดคล้องกับงบประมาณที่ ก.ธ.จ. ได้รับการจัดสรรในแต่ละคณะ อย่างไรก็ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาให้ผู้ช่วยเลขานุการ ก.ธ.จ. ที่เป็นข้าราชการในจังหวัด พ้นจากตำแหน่ง กรณีบกพร่องต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถได้
”
|
๒.๗ ด้วย ก.ธ.จ. จะต้องลงพื้นที่สอดส่องโครงการที่ใช้งบประมาณจากกลุ่มจังหวัด ซึ่งหลายโครงการ ที่มีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกันและคาบเกี่ยวกัน จะสามารถจัดให้มี ก.ธ.จ. กลุ่มจังหวัด ครบทั้ง ๑๘ จังหวัดได้หรือไม่ เพื่อให้การลงพื้นที่สอดส่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชนและประเทศชาติ
ตอบ “ ก.ธ.จ. สามารถสอดส่องการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงนของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัด โดยสอดส่องแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด หรือแผนงาน/โครงการของส่วนราชการในจังหวัด ซึ่งเห็นว่าการณีแผนงาน/โครงการที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกันหรือคาบเกี่ยวกัน ก.ธ.จ. สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกับ ก.ธ.จ. ในจังหวัดใกล้เคียงได้ อย่างไรก็ดี กรณีขอให้มีการจัดตั้ง ก.ธ.จ. กลุ่มจังหวัดนั้น เห็นว่า ตามเหตุผลท้าย พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดให้มี ก.ธ.จ. ในทุกจังหวัดว่า "เพื่อให้เกิดการบริหารราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาคสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และให้การบริหารราชการแบบบูรณาการในจังหวัดบรรลุผล สมควรปรับปรุงอำนาจการดำเนินการของจังหวัด การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และการจัดทำงบประมาณของจังหวัดให้เหมาะสม รวมทั้ง สมควรส่งเสริมให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด เพื่อสอดส่อง และเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐในจังหวัด ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันจะทำให้การบริหารเป็นไปด้วยความโปร่งใ เป็นธรรม และมีความรับผิดชอบ" ซึ่ง ก.ธ.จ. สามารถสอดส่องทุกแผนงาน/โครงการในจังหวัดได้ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนด ดังนั้นการกำหนดให้มี ก.ธ.จ. กลุ่มจังหวัดนั้นอีก อาจเป็นการซ้ำซ้อนและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ” |
๒.๘ ก.ธ.จ. สามารถใช้พื้นที่ของสำนักงานจังหวัดเป็นสถานที่จัดประชุม ก.ธ.จ. ได้ตามที่ระเบียบฯ กำหนด ดังนั้น สถานที่ดังกล่าวนอกจากใช้เป็นสถานที่จัดประชุม ก.ธ.จ. แล้ว ยังสามารถใช้เป็น ศูนย์ประสานงานหรือใช้เป็นห้องปฏิบัติงานของ ก.ธ.จ. ได้หรือไม่
ตอบ “ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความอนุเคราะห์สถานที่เพื่อใช้เป็นสำนักงานหรือศูนย์ประสานงานของ ก.ธ.จ. ซึ่งที่ผ่านมาทุกจังหวัดได้ให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องดังกล่าวตามเหมาะสมของแต่ละจังหวัด ในกรณีที่ขอจัดให้มีห้องทำงานของ ก.ธ.จ. ภายในพื้นที่ของสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัดโดยเฉพาะนั้น เห็นว่าอำนาจในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยที่ต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่จะต้องพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นในการขอใช้พื้นที่ จำนวนบุคลากรปฏิบัติงานประจำที่สำนักงาน ภารกิจ/แผนปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะขอใช้พื้นที่ตามกฎกระทรวงฯ ก็จะต้องดำเนินการเช่าพื้นที่ดังกล่าวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจติดขัดในเรื่องของงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว ” |
๒.๙ ก.ธ.จ. มีเครื่องแบบสำหรับปฏิบัติงานและเครื่องแบบชุดปกติขาวเพื่อเข้าร่วมงานราชพิธี รัฐพิธี ฯลฯ หรือไม่
ตอบ “ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดทำเครื่องแต่งกายของ ก.ธ.จ. เป็นเสื้อคลุมสูท/แจ็กเกตทรงสูท สีดำ ปักตราสำนักนายกรัฐมนตรี ให้กับ ก.ธ.จ. ที่ปรึกษา ก.ธ.จ. ฝ่ายเลขานุการ ก.ธ.จ. และเจ้าหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. เพื่อให้ ก.ธ.จ. ซึ่งเป็นผู้มีจิตอาสา เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ และให้ความช่วยเหลือแก่ทางราชการ มีเครื่องแต่งกายไว้ใช้ในการประชุมหรือลงพื้นที่สอดส่องแผนงาน/โครงการในจังหวัด สำหรับเครื่องแบบเพื่อเข้าร่วมงานราชพิธี รัฐพิธี ฯลฯ เนื่องจากกรรมการ ก.ธ.จ. แต่ละรายมาจากภาคส่วนที่ต่างกัน หากเป็นข้าราชการบำนาญ หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ก็จะมีเครื่องแบบชุดปกติขาวอยู่แล้ว หรือหากเป็นประชาชนทั่วไปกรณีที่มีหมายรับสั่งหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้าเฝ้าก็จะแต่งกายด้วยชุดขอเฝ้า ซึ่งการแต่งกายและการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามสาขาอาชีพ ตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่ อายุงาน และเพศสภาพของกรรมการแต่ละคน ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยภรณ์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนด และด้วยภารกิจงานตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ. มิได้เกี่ยวข้องกับงานราชพิธีหรือรัฐพิธีโดยตรง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ”
|
๒.๑๐ ก.ธ.จ. ที่มีคุณงามความดี มีผลงานโดดเด่น หรือดำรงตำแหน่งครบสองวาระ มีสิทธิ์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกฎไทย และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละของกรรมการ
ตอบ “ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอหารือในเรื่องดังกล่าว โดยได้รับแจ้งผลการพิจารณา ดังนี้ (๑) กรณีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกฎไทย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ มิได้กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายใด ๆ ยกเว้นกรรมการตามกฎหมายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง กรรมการ ก.ธ.จ. จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามระเบียบฯ ดังกล่าว (๒) การณีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ตาม พ.ร.บ. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕ ประกอบกับ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๐ วรรคสาม บัญญัติให้การกระทำความดีความชอบกรณีเป็นผู้มีผลงาน ผลงานนั้นต้องไม่เป็นผลงานที่ผู้นั้นกระทำในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่ง ก.ธ.จ. เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ”
|
๒.๑๑ กรรมการ ก.ธ.จ. มีสวัสดิการคุ้มครองต่าง ๆ เช่น การประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือการรักษาพยาบาลหรือไม่
ตอบ “ กรณีสวัสดิการการรักษาพยาบาลจะเป็นไปตามสิทธิของกรรมการแต่ละคนตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สิทธิผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือเป็นสวัสดิการของบริษัทที่ตนทำงานอยู่ เป็นต้น ซึ่งกรรมการ ก.ธ.จ. เป็นบุคคลที่มาจากภาคประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นสวัสดิการในการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่กรรมการได้ สำหรับสวัสดิการการประกันชีวิตให้กับกรรมการ ก.ธ.จ. ด้วยระเบียบฯ และประกาศ นร. ที่เกี่ยวข้อง มิได้กำหนดให้มีสวัสดิการของ ก.ธ.จ. ในเรื่องของการประกันชีวิต ประกอบกับการจัดให้มีสวัสดิการการประกันชีวิตให้กับกรรมการที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวน ๑,๐๘๓ คน นั้น จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับการจัดสรรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของ ก.ธ.จ. ในแต่ละปีนั้น มีไม่เพียงพอที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ” |
๒.๑๒ กรรมการ ก.ธ.จ. สามารถใช้ตำแหน่ง ก.ธ.จ. ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้หรือไม่
ตอบ “ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ ประกอบกับคำสั่งกรมตำรวจ ที่ ๖๒๒/๒๕๓๖ เรื่อง การใช้บุคคลเป็นประกัน หรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๖ มิได้กำหนดให้กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสามารถใช้ตำแหน่งเป็นประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือตำเลยในคดีอาญาได้ อย่างไรก็ดี หากกรรมการเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโทยทางสมรส หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนญาติพี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้ ก็สามารถใช้สถานะดังกล่าวยื่นขอประกันได้ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายดังกล่าวกำหนด ” |
๒.๑๓ เครื่องแต่งกาย ก.ธ.จ. ชุดที่ ๕ จำนวน ๔๕ จังหวัด จะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด
ตอบ “ ในเบื้องต้น ได้จัดทำให้กับ ก.ธ.จ. และที่ปรึกษา ก.ธ.จ. จำนวน ๔๕ จังหวัด ที่ประกาศรับรองรายชื่อฯ รวมทั้งที่แจ้งผลการสรรหามายังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยจัดทำให้เฉพาะผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่ง ก.ธ.จ. และที่ปรึกษา ก.ธ.จ. ในวาระที่ ๔ เนื่องจาก ก.ธ.จ. และที่ปรึกษา ก.ธ.จ. ชุดที่ ๔ เพิ่งได้รับมอบเสื้อไปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ และมีนาคม ๒๕๖๖ ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ และส่งมอบให้กับ ก.ธ.จ. และที่ปรึกษา ก.ธ.จ. ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ สำหรับ ก.ธ.จ. ที่เหลืออีก ๓๑ จังหวัด เมื่อมีการรับรองรายชื่อแล้ว จะดำเนินการในโอกาสต่อไป ” |
๒.๑๔ ก.ธ.จ. และที่ปรึกษา ก.ธ.จ. สมัครรับเลือกเป็น สว. ได้หรือไม่
ตอบ “ ก.ธ.จ. ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน และที่ปรึกษา ก.ธ.จ. สมัครรับเลือกเป็น สว. ได้ เนื่องจากไม่ถือเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" อันเป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็น สว. ตามมาตรา ๑๔ (๑๕) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ แต่ในส่วนของ ก.ธ.จ. ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น สมัครรับเลือกเป็น สว. ไม่ได้ เนื่องจากถือเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ตามมาตรา ๑๔ (๒๔) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ ”
|
๒.๑๕ ถ้าสมัครรับเลือกเป็น สว. แล้ว ต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือไม่
ตอบ “ ก.ธ.จ. ผู้แทนภาคประชาสังคมและผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากยังไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคระกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนด ที่ปรึกษา ก.ธ.จ. ไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้ ”
|
๒.๑๖ ถ้าได้รับเลือกเป็น สว. แล้ว ต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือไม่
ตอบ “ ก.ธ.จ. ผู้แทนภาคประชาสังคมและผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน หากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง สว. แล้ว ต้องลาออกจากการเป็น ก.ธ.จ. เนื่องจากเป็นการดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๘ (๘) และข้อ ๑๕ (๒) แห่งระเบียบฯ ที่ปรึกษา ก.ธ.จ. หากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง สว. แล้ว ไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของที่ปรึกษา ก.ธ.จ. ไว้ ”
|