ขนาดตัวอักษร
แจ้งข้อมูล ก.ธ.จ. คำถามที่พบบ่อย แผนผังเว็บไซต์
ก.ธ.จ.

คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด

“โปร่งใส ไร้ทุจริต คือภารกิจ ก.ธ.จ.”

  • วันหยุดนักขัตฤกษ์
  • กิจกรรมของ ก.ธ.จ.

ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมล่าสุด

04 เม.ษ. 2567

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ก.ธ.จ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อ่านต่อ >
13 มี.ค. 2567

รายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสงขลา ปีงบประมาณ ๒๕๖๖

อ่านต่อ >
08 มี.ค. 2567

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รับรองรายชื่อกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (วาระที่ ๕)

อ่านต่อ >
ความเป็นมาและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด
ความเป็นมา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 87 ได้บัญญัติว่า รัฐต้องดําเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพ หรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลาย หรือรูปแบบอื่น เจตนารมณ์ที่บัญญัติไว้ดังกล่าวก็เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนมีดังนี้
  • ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบาย และวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทําบริการสาธารณะ
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพ หรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลาย หรือรูปแบบอื่น
  • ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง และจัดให้มีกฎหมาย จัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เพื่อช่วยเหลือการดําเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดําเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็น และเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพ หรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลาย หรือรูปแบบอื่น

"

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 55/1 ได้กําหนดให้มี

คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด หรือเรียกโดยย่อว่า ก.ธ.จ.

ในทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร

"

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 55/1 ได้กําหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด หรือเรียกโดยย่อว่า “ก.ธ.จ.” ในทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร เพื่อทําหน้าที่สอดส่องและเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐในจังหวัดให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเป็นไปตามหลักการที่กําหนดไว้ตามมาตรา 3/1 สําหรับจํานวน วิธีการสรรหาและการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ให้เป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี สําหรับองค์ประกอบของ ก.ธ.จ. จะประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 ภาคส่วน คือ ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ได้ดํารงตําแหน่งผู้บริหาร และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนเป็นกรรมการ โดยมีผู้ตรวจราชการสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเขตอํานาจในจังหวัดเป็นประธาน และมีฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขานุการหนึ่งคน ผู้ช่วยเลขานุการหนึ่งคน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการในจังหวัดนั้น เป็นผู้ช่วยเลขานุการอีกหนึ่งคน ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ซึ่งทําให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสอดส่องและเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัด ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และมีความรับผิดชอบ ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุง ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหากรรมการ การกําหนดสัดส่วนของกรรมการผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น การจัดทําบัญชีรายชื่อสํารอง ตลอดจนการลงคะแนนเพื่อเลือกกันเอง ปัจจุบัน ก.ธ.จ. ทั่วประเทศมีจํานวน 76 คณะ รวม 1,387 คน (รวมประธานและฝ่ายเลขานุการ) โดยกรรมการมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 3 ปี นับแต่วันที่ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีประกาศรับรองรายชื่อกรรมการเป็นรายจังหวัด กรรมการซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระอาจได้รับการสรรหาอีกได้ แต่จะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ ทั้งนี้ จํานวน ก.ธ.จ. ในแต่ละจังหวัดมี ดังนี้
ตารางแสดงจํานวนกรรมการ ก.ธ.จ. ตามเกณฑ์จํานวนอําเภอของแต่ละจังหวัด
จำนวนอำเภอของจังหวัด จำนวน ก.ธ.จ. ทั้งหมด ประธาน (ผต.นร.) จำนวน ก.ธ.จ.
ภาค
ประชาสังคม
สมาชิก
สภาท้องถิ่น
ภาค
ธุรกิจเอกชน
ไม่เกิน 10 14 1 7* 3 3
ตั้งแต่ 11-15 16 1 9 3 3
ตั้งแต่ 16-20 18 1 9 4 4
ตั้งแต่ 21 อำเภอ ขึ้นไป 20 1 11 4 4
หมายเหตุ : จํานวนที่มี * หมายถึงจํานวนไม่เกินตัวเลขดังกล่าว
อำนาจหน้าที่ตามระเบียบฯ
1. ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ข้อ 22 กําหนดให้ ก.ธ.จ. มีอํานาจหน้าที่ ดังนี้
  • สอดส่องผลการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
  • แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี ดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ในกรณีที่พบว่า มีการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือมีกรณีทุจริต
  • เสนอแนะแนวทางการปฏิบัติและการส่งเสริมตามหลักคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล เพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานของรัฐในจังหวัด
  • ติดตามผลการปฏิบัติตามมติ ก.ธ.จ.
  • แต่งตั้งที่ปรึกษาด้านวิชาการ การประชาสัมพันธ์ หรือด้านอื่น ๆ จํานวนไม่เกินสามคน
  • เผยแพร่ผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณะตามที่เห็นสมควร
2. การสอดส่องการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดตามอํานาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ข้อ 22 (1) ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างน้อย 7 ประการ ตามระเบียบฯ ข้อ 23 ดังนี้
  • ปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
  • ปฏิบัติภารกิจเพื่ออํานวยความสะดวก ให้บริการ และสนองความต้องการของประชาชน
  • ปฏิบัติภารกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
  • ปฏิบัติภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ และมีความคุ้มค่า
  • ปฏิบัติภารกิจโดยไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจําเป็น ให้ทันต่อสถานการณ์โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนและทุกข์ยากของประชาชน
  • ปฏิบัติภารกิจโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส
  • ปฏิบัติภารกิจโดยมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานสม่ำเสมอและเผยแพร่ต่อสาธารณะ
3. สําหรับกลไกการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ระเบียบฯ ข้อ 26 ได้ให้อํานาจ ก.ธ.จ. ในการออกหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ปรึกษาตามข้อ 22 (5) และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม หรือจัดส่งเอกสารหรือข้อมูลต่างๆ รวมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจําเป็น นอกจากนี้ระเบียบฯ ข้อ 28 ยังได้กําหนดว่า “กรณีที่ ก.ธ.จ. มีมติว่ามีการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับหรือมีกรณีทุจริต ให้ประธานแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี เพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี รายงานผลการดําเนินการให้ประธานทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี มิได้ดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ให้ประธานแจ้งมติ ก.ธ.จ. ตามวรรคหนึ่งให้ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อรายงานต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดดําเนินการต่อไป”
อำนาจหน้าที่ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 133/2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคําสั่งที่ 69/2557 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ข้อ 1 ได้กําหนดให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กําหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้ ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แถลงนโยบายรัฐบาล ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในด้านการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐว่า ให้ส่งเสริมและสนับสนุนภาคีองค์กรภาคเอกชนและเครือข่ายต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอดส่อง เฝ้าระวัง ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 133/2557 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เรื่องปรับปรุงคําสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค โดยกําหนดให้การกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคตามคําสั่งนี้ หมายถึง “การตรวจราชการ การขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานเหตุการณ์และผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์ของชาติ ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์จังหวัด การประสานราชการเพื่อให้เกิดการบูรณาการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและยุทธศาสตร์จังหวัด ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม การเร่งรัด การติดตามผล การให้คําแนะนําช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในการดําเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐโดยให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย” ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสําคัญกับบทบาทขององค์กรภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อํานาจของรัฐ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจตามอํานาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 133/2557 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีจึงได้กําหนดแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. กรณีการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องในการดําเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ดังนี้
  • การตรวจสอบความถูกต้องในการดําเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐในการกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ให้เป็นดุลยพินิจของรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีที่กํากับดูแลในแต่ละพื้นที่ โดยให้ผู้ตรวจราชการสํานักนายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นําเรียนหารือในเรื่องดังกล่าว
  • กรณีที่รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบความถูกต้องในการดําเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐตามแผนงานโครงการใด ให้ ก.ธ.จ. มีส่วนร่วมในการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วนําเสนอที่ประชุม ก.ธ.จ. เพื่อมีมติให้เสนอรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
  • กรณีที่รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีเดินทางไปกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ เมื่อ ก.ธ.จ. ได้รับแจ้งจากฝ่ายเลขานุการ ก.ธ.จ. (ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการสํานักนายกรัฐมนตรี) แล้ว ให้มีผู้แทน ก.ธ.จ. จํานวน 2 คน ตามมติที่ประชุม ก.ธ.จ. เข้าร่วมกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่
  • ให้ฝ่ายเลขานุการ ก.ธ.จ. (ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการสํานักนายกรัฐมนตรี) สนับสนุนข้อมูลแผนงาน/โครงการที่รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีมีกําหนดเดินทางไปกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ พร้อมทั้งอํานวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กับผู้แทน ก.ธ.จ. ที่ได้รับมอบหมาย
แนวทางปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ในการตรวจสอบความถูกต้องในการดําเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐดังกล่าว สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีได้นําเสนอคณะกรรมการกํากับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคในคราวประชุมครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน เพื่อทราบด้วยแล้ว